9 วิธีการเลือกซื้อบ้าน

บ้านเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีพ เนื่องจากเป็นที่พักผ่อนและอยู่อาศัย การเลือกซื้อบ้านจึงเป็ฯอีก 1 เรื่องที่ไม่สามารถละเลยหรือมองข้ามได้เลย เพราะถ้าซื้อแล้วเกิดไม่ถูกใจหรือมีปัญหาต่างๆ ตามมาภายหลัง การขายบ้านไปซื้อบ้านหลังใหม่อีกครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ หลายคนจึงอาจมีโอกาสในการซื้อบ้านเพียงแค่ครั้งเดียว จึงต้องแน่ใจว่าบ้านที่เลือกคือบ้านใช่จริงๆ วันนี้ SoulStay Property (SSP) มีคำแนะนำดีๆ ในการเลือกบ้านใหม่ จากประสบการณ์จริงของทีมแอดมินทั้งเรื่องบ้านและคอนโด

1.ทำเล
ทำเลที่ดี ควรเป็นทำเลที่เราสามารถเดินทางไปมาได้สะดวก มีระบบขนส่งสาธารณะ ใกล้สาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ ครบถ้วน อีกทั้งต้องสามารถมาถึงสถานพยาบาลได้รวดเร็วในยามเจ็บป่วย มีสถานศึกษาสำหรับบุตรหลาน มีตลาดและศูนย์การค้าสำหรับจับจ่ายใช้สอย ที่สำคัญไม่ควรไกลจากสถานที่ทำงานมากเกินไป และถึงแม้จะไกลก็ขอให้มีเส้นทางไปถึงอย่างสะดวก

2.งบประมาณ
เรื่องงบประมาณเป็นเรื่องถัดมาที่ควรดูเพื่อพิจารณาราคาบ้านที่เหมาะสมกับเรา จากนั้นจึงมาดูทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับงบประมาณต่อ ก่อนซื้อบ้านจึงควรพิจารณาเรื่องเงินเก็บ รายได้ และค่าใช้จ่ายให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน ซึ่งมีวิธีการประเมินเบื้องต้นคือ โดยทั่วไปธนาคารจะให้กู้ประมาณ 80 – 90% ของราคาบ้าน ดังนั้นเราควรมีเงินเก็บอย่างน้อยประมาณ 20% ของราคาบ้าน (เงินดาวน์) หรืออย่างน้อยให้พิจารณาเบื้องต้นว่าเราสามารถผ่อนดาวน์ได้เสียก่อน

3.ผู้ประกอบการหรือตัวแทนที่ไว้ใจได้
ฝันร้ายของคนซื้อบ้านหรือคอนโด คือจองแล้ว ทำสัญญาแล้ว แต่สุดท้ายไม่ได้บ้านหรือคอนโด เพราะผู้ประกอบการมีปัญหาขาดเงินทุน สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ หรือยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า จนไม่สามารถสร้างโครงการให้เสร็จได้ ดังนั้นทางควรเลือกซื้อบ้านจากผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มืออาชีพที่มีประวัติน่าเชื่อถือ หรือผู้แทนที่สามารถให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้

4.เลือกทิศที่ตั้งของหน้าบ้าน หรือคอนโด
สิ่งนี้สอดคล้องทั้งตามหลักวิทยาศาสตร์และทิศทางในศาสตร์ฮวงจุ้ยเลยทีเดียว นั่นคือ พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกตอนเช้า แล้วตกทางฟากตะวันตกตอนเย็น ดังนั้นใครที่อยากได้แดดตอนเช้าก็เลือกหน้าบ้านที่หันไปทางทิศตะวันออก หรือเยื้องๆ มาทางทิศเหนือก็ยังได้ ส่วนใครที่ชอบนอนตื่นสายและไม่อยากให้แดดมารบกวนตอนเช้า แนะนำให้เลือกทิศทางตรงกันข้ามคือหน้าบ้านหันไปทางทิศตะวันตก หรือเยื้องไปทางทิศใต้ก็จะได้แดดเต็มๆ ในช่วงบ่ายถึงเย็นแทน

5.แบบบ้านควรตอบสนองการอยู่อาศัยที่ครบถ้วน
บ้านที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี คือบ้านที่ผ่านการศึกษาวิเคราะห์เรื่องการตอบสนองผู้อยู่อาศัยมาแล้ว และมักเป็นบ้านที่มีฟังก์ชั่นให้เลือก ดังนั้นก่อนเลือกซื้อบ้านเราต้องพิจารณาถึงจำนวนคนในครอบครัว อายุ เพศ วัย ประกอบกัน เช่นครอบครัวใหญ่ มีคนเยอะ ก็ควรเลือกบ้านที่มีห้องน้ำเพียงพอ หรือครอบครัวที่มีผู้สูงอายุควรเลือกบ้านที่มีการห้องนอนอยู่ชั้นล่าง จะได้ไม่ต้องลำบากขึ้นลงบันได เป็นต้น ที่สำคัญควรพิจารณาให้ครอบคลุมถึงพื้นที่จอดรถ ครัว พื้นที่ซักล้าง บวกกับในอนาคตถ้ามีการต่อเติมเกิดขึ้น บ้านหลังนี้ต้องไม่มีปัญหาพื้นที่ทรุดตัวหรือร้าวเกิดขึ้นตามมา

6.ดูวัสดุก่อสร้างและการตกแต่ง
ต่อเนื่องมาจากข้อด้านบน เพราะส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหามักจะเป็นเรื่องพื้น ผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ แตกต่างกัน หมายถึงการเลือกใช้สุขภัณฑ์แต่ละแบรนด์ย่อมมีคุณภาพ ดีไซน์ และราคาก็ต่างกันไปอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องสุขภัณฑ์จึงเป็นเรื่องที่เราเห็นและรับรู้ได้ชัดเจน

ในส่วนพื้นผนังที่มีหลายรูปแบบนั้น จุดนี้ควรดูให้ละเอียดเช่นกัน อาทิ อิฐมอญมีความทนทานสูง แข็งแรงปานกลาง – สูง กันร้อนได้ดี แต่มักอมความร้อนแล้วถ่ายเทเข้าบ้านตอนค่ำๆ ส่วนอิฐบล็อคไม่ค่อยแข็งแรงและมีความทนทานต่ำ แต่มีโพรงข้างในอิฐ ทำให้ข้างในบ้านร้อนไม่มากเท่าอิฐมอญ และในส่วนอิฐมวลเบาจะมีความแข็งแรงน้อย-ปานกลาง ความทนทานปานกลาง ถ่ายเทความร้อนได้ บ้านจึงไม่อมความร้อน หรือปัจจุบันที่มักนิยมใช้พื้นและผนังสำเร็จรูปแทน อันนี้ก็ถือว่าช่วยเรื่องความสะดวกรวดเร็วในการก่อสร้าง ประกอบกับมีความแข็งแรงมากของระบบ Precast แต่ในทางกลับกันการ ทุบ ตอก เจาะ เพื่อการตกแต่ง และแก้ไขอาจทำได้ยากกว่าแบบอื่น

เรื่องการทาสีหรือวอลล์เปเปอร์ภายในก็เป็นอีกเรื่องที่ควรดู ซึ่งมีความชอบส่วนตัว ความสะดวกและการดีไซน์ของแต่ละบ้านแตกต่างกัน หมายถึงการมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันนั่นเอง เช่น วอลล์เปเปอร์มักเนี๊ยบ เก็บรายละเอียดได้ดี พื้นผิวดูมีมิติ มี Texture มีอายุใช้งานน้อยกว่าการทาสี หลุดลอกภายหลัง ส่วนการทาสีส่วนใหญ่มักเกิดปัญหาการเปรอะเปื้อนมากกว่า แต่ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีเรื่องสีเข้ามาช่วยแล้ว เราเลือกได้เลยว่าชอบแบบไหนอย่างไร

7.อย่าลืมต่อรอง
การต่อรองเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ให้การซื้อเป็นเรื่องราวที่สนุกสนาน และทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้พูดคุยหรือเล่าเรื่องราวมากขึ้น ที่สำคัญทั้งสองฝ่ายได้ราคาที่พึงพอใจกันทั้งคู่ บ้านที่มีคุณลักษณะที่ดีและมีมาตรฐานราคาก็ว่ากันไปตามคุณภาพ อีกทั้งเรื่องของอายุบ้านการใช้วัสดุและการตกแต่งก็เป็นอีกหนึ่งส่วนของการเสนอราคา ราคาพอใจงบประมาณพอดี ความสุขและความสำเร็จก็เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายแน่นอน

8.ดูฮวงจุ้ย บ้าน คอนโด
สำหรับสายมูหรือผู้ชื่นชอบด้านโหราศาสตร์และเรื่องฮวงจุ้ยบ้านแล้ว ต้องศึกษาเรื่องปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกับฮวงจุ้ยให้ดี อาทิ การดูทิศทางบ้าน รูปทรงของบ้าน แบบแปลนบ้าน ตำแหน่งของห้องต่างๆ รวมไปถึงเรื่องสีสัน การจัดวางเข้าของ และวันเดือนปีเกิดของเจ้าของบ้านว่าเข้ากันหรือเปล่าด้วย แต่เรื่องนี้เป็นความสบายใจส่วนบุคคล หากไม่ทำให้ใครเดือนร้อนแล้วเราสบายใจก็สามารถทำได้เลย

9.มั่นใจ ตัดสินใจ แล้วติดตาม
เมื่อทำตามเคล็ดลับการซื้อบ้านใหม่และคอนโดใหม่ทั้งหมดเรียบร้อย ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะเราศึกษาเรื่องต่าง ๆ ที่ควรรู้ของ ‘บ้านใหม่’ มาแล้ว ทำขั้นตอนต่อไปได้เลยนั้นคือการจ่ายเงินจอง นัดทำสัญญาจะซื้อจะขาย ชำระเงินดาวน์เป็นงวด ๆ หรือชำระทั้งหมดครั้งเดียว แล้วนัดวันโอนกรรมสิทธิ์ต่อไป โดยเราอาจไปด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้แทนจัดการแทนก็ได้

เคล็ดลับ วิธีการเลือกบ้านใหม่ จริงๆ แล้วไม่ถือเป็นเคล็ดลับอะไร แต่เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราควรนำไปใช้ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านและคอนโด เพื่อให้ได้ที่อยู่อาศัยถูกใจ เป็นบ้านที่อบอุ่น สร้างความสุขให้เราและครอบครัวไปได้นานๆ